เรียนโหรากับมหาหมอดู


 
  หน้าต่อไป
 

โหราศาสตร์ไทย

            โหราศาสตร์ เป็นวิชาที่ใช้ทายกาลล่วงหน้าหรือดูการล่วงหน้า ใช้สำหรับพยากรณ์ผลกรรมของมนุษย์โดยอาศัยดวงดาวเป็นเครื่องพยากรณ์
            ผลกรรมของมนุษย์ตามหลักพุทธศาสนา ตามที่แสดงไว้ในกัมมวิภังคสูตร ได้แสดงผลกรรมไว้ ๑๔ ประการคือ บางคนอายุยืน บางคนอายุสั้น บางคนมีโรคน้อย บางคนมีโรคมาก บางคนมีผิวพรรณดีบางคนมีผิวพรรณทราม บางคนมีศักดามาก บางคนมีศักดาน้อย บางคนมีทรัพย์สมบัติมาก บางคนมีทรัพย์สมบัติน้อย บางคนมีตระกูลสูง บางคนมีตระกูลต่ำ บางคนมีปัญญามาก บางคนมีปัญญาน้อย
            โหราศาสตร์จะเป็นเครื่องบอกผลกรรม ๑๔ ประการ และความเป็นไปของมนุษย์ในห้วงระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ได้เป็นอย่างดี แสดงเหตุและผลของดวงดาว ทำให้สามารถทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าของวิถีทางของมนุษย์ และเหตุการณ์ของโลกทั่ว ๆ ไป
            วิชาโหราศาสตร์ เป็นวิชาที่เก่าแก่เชื่อว่าเกิดในทวีปเอเซียก่อนแล้วจึงแพร่หลายไปยังแหล่งอื่น ในคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์ ซึ่งมีอายุก่อนพุทธศาสนาก็มีคำสดุดีดาวพระเคราะห์อยู่ด้วย สำหรับวิชาโหราศาสตร์ของไทยตามหลักฐานที่มีอยู่ แสดงว่าได้รับสืบทอดมาจากอินเดีย เมืองไทยเราตั้งอาณาจักรสุโขทัยก็ได้มีตำแหน่งพระมหาราชครู ซึ่งเป็นพราหมณาจารย์ และตั้งให้เป็นปุโรหิตประจำราชสำนักสืบต่อมาในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ ก็ยังคงมีพราหมณาจารย์ดำรงตำแหน่งพระมหาราชครู
            ในทางพระพุทธศาสนา สมเด็จพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีพุทธานุญาตให้ พระภิกษุสงฆ์เรียนรู้วิชาโหราศาสตร์ในเรื่องฤกษ์ยาม เพื่อจะได้รู้เวลาทำอุโบสถสังฆกรรม อันเป็นกิจในพระพุทธศาสนา จึงได้มีชื่อ วัน เดือน ปี และฤกษ์แสดงไว้ท้ายบอกวัตรพระเป็นประเพณีสืบต่อมา ที่มาของเรื่องนี้มีอยู่ว่า สมัยหนึ่ง พระภิกษุทั้งหลายไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในอรัญญิกเสนาสนะได้มีหมู่โจรมาถามว่า วันนี้พระจันทร์กอร์ปด้วยนักขัตฤกษ์อะไร พระภิกษุตอบว่าไม่รู้ พวกโจรจึงว่า ชนเหล่านี้มิใช่สมณะจึงไม่รู้นักขัตตบาท คงจะเป็นพวกโจรมาซุ่มซ่อนอยู่ ว่าแล้วโจรเหล่านั้นก็เข้าทำร้าย พระภิกษุเหล่านั้นแล้วหลีกไป เมื่อความเรื่องนี้ทราบถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์จึงทรงมี พระพุทธฎีกาตรัสให้ประชุมพระภิกษุสงฆ์ แล้วจึงตรัสอนุญาต ให้ภิกษุที่ไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าพึงเรียนรู้นักขัตฤกษ์ สำหรับอรัญญิกวัตร เพื่อรักษาตนให้พ้นอันตรายจากโจร
            วิชาหมอดู จัดว่าเป็นบันไดขั้นต้นของวิชาโหราศาสตร์ ทั้งสองวิชาต่างก็ใช้ดวงดาวนพเคราะห์เป็นเครื่องวินิจฉัย หลักวิชาที่หมอดูใช้ได้แก่ ตำราเลข ๗ ตัว โดยอาศัย วัน เดือน ปี และยามเวลาเกิด โดยเทียบเข้ากับหลักการของดาวเคราะห์เป็นมูลฐานในการทำนาย ส่วนวิชาโหราศาสตร์มีการกำหนดท้องฟ้าเป็นจักรราศี โดยแบ่งออกเป็น ๑๒ ราศี แบ่งออกเป็น ๒๗ นักษัตร ๓๖ ตรียางค์ และ ๑๐๘ นวางค์ นอกจากนั้นยังมีตำรามหาทักษาพยากรณ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง หลักตำราโหรโบราณแทบทุกคัมภีร์ มักจะนำเอาหลักเกณฑ์ในมหาทักษาพยากรณ์ ไประคนกับหลักเกณฑ์ในวิชาโหราศาสตร์ ในวิชาโหราศาสตร์แบ่งจักรราศีออกเป็น ๑๒ ราศี แล้วจัดดาวพระเคราะห์เข้าครองประจำทุกราศี ที่เรียกว่า เกษตร์ และจัดให้ธาตุทั้งสี่ คือ ไฟ ดิน ลม น้ำ เข้าครองประจำทุกราศี กำหนดให้ดาวพระเคราะห์เกษตร์ประจำราศี เข้าครองธาตุตามลักษณะธาตุที่ประจำราศีนั้น และทุกราศีก็กำหนดให้เป็นทิศต่าง ๆ ในวิชาหมอดู มีการแบ่งท้องฟ้าออกเป็น ภูมิอัฐจักรพยากรณ์ มีดาวพระเคราะห์ ธาตุและทิศเข้าครองเหมือนหลักเกณฑ์ในวิชาโหราศาสตร์
ตำนานการอุบัติของดาวพระเคราะห์


            ตามคัมภีร์เฉลิมไตรภพได้กล่าวไว้ว่า เมื่อโลกถูกไฟบรรลัยกัลป์เผาผลาญ เหลือแต่ความว่างเปล่า บรรดาพระเวท พระธรรมศาสตร์ ได้รวมตัวกันเข้า เกิดเป็นพระอิศวร พระอิศวรจึงสร้างโลกใหม่ให้บังเกิดมี มนุษย์ สัตว์ และพืช ขั้นแรกสร้างพระอุมาภควดี พระนารายณ์ และพระพรหมธาตุขึ้นก่อน แล้วสำรอกเนื้องอกออกจากท้องเกิดเป็นแผ่นดิน ถอดจุฑามณีออกจากผม แล้วบันดาลให้เป็นเขาสุเมรุราช และบันดาลให้เกิดธาตุทั้งปวงขึ้นในโลก บังเกิดฝนตกลงมาห่าใหญ่ เมื่อฝนหายแล้ว ลมหอบเอาไอดินหอมขึ้นไปถึงพรหมโลก บรรดาพรหมหอมกลิ่นไอดินก็เกิดอยากเสพง้วนดิน จึงแปลงเพศเป็นนางพรหมรวมเจ็ดองค์ลงมากินง้วนดิน เมื่อกินง้วนดินไปแล้วก็มีเทพบุตร และเทพธิาจุติลงมาเกิดในครรภ์ของนางพรหมทั้งเจ็ด ต่อมาได้คลอดบุตรเป็นชายหนึ่งคนเป็นหญิงหกคน เป็นต้นวงศ์ของมนุษย์ในโลก
            พระอิศวรมีดำริว่า เมื่อโลกมีมนุษย์ และสัตว์เกิดขึ้นแล้ว สมควรจัดให้มีแสงสว่างส่องโลก จึงได้ตั้งจักรราศีไว้ ๑๒ ราศี ประกอบด้วยดาวฤกษ์ ๒๗ ฤกษ์ มีวิมานนพเคราะห์ ๙ วิมาน เวียนรอบจักรราศีตามกำหนดเวลา กำหนดให้มีสัตว์ ๑๒ นักษัตรขึ้นเป็นนามมี คือ หนูเป็นนามปีชวด วัวเป็นนามปีฉลู เสือเป็นนามปีขาล กระต่ายเป็นนามปีเถาะ งูใหญ่เป็นนามปีมะโรง งูเล็กเป็นนามปีมะเส็ง ม้าเป็นนามปีมะเมีย แพะเป็นนามปีมะแม ลิงเป็นนามปีวอก ไก่เป็นนามปีระกา สุนัขเป็นนามปีจอ และหมูเป็นนามปีกุน
            จากนั้นได้สร้างพระอาทิตย์ (๑) จากราชสีห์ ๖ ตัว พระอาทิตย์ จึงมีกำลัง ๖ ทรงราชสีห์เป็นพาหนะ
            สร้างพระจันทร์ (๒) จากนางฟ้า ๑๕ พระจันทร์จึงมีกำลัง ๑๕ มีม้าเป็นพาหนะ
            สร้างพระอังคาร (๓) จากกระบือ ๘ ตัว พระอังคารจึงมีกำลัง ๘ มีกระบือเป็นพาหนะ
            สร้างพระพุธ (๔) จากช้าง ๑๗ ตัว พระพุธจึงมีกำลัง ๑๗ มีช้างเป็นพาหนะ
            สร้างพระพฤหัสบดี (๕) จากฤาษี ๑๙ ตน พระพฤหัสบดีจึงมีกำลัง ๑๙ มีกวางทองเป็นพาหนะ
            สร้างพระศุกร์ (๖) จากโค ๒๑ ตัว พระศุกร์จึงมีกำลัง ๒๑ มีโคเป็นพาหนะ
            สร้างพระเสาร์ (๗) จากเสือ ๑๐ ตัว พระเสาร์จึงมีกำลัง ๑๐ มีเสือเป็นพาหนะ
            สร้างพระราหู (๘) จากหัวผีโขมด ๑๒ หัว พระราหูจึงมีกำลัง ๑๒ มีครุฑเป็นพาหนะ
            สร้างพระเกตุ (๙) จากพญานาค ๙ ตัว พระเกตุจึงมีกำลัง ๙ มีนาคเป็นพาหนะ
            พระอิศวรจัดให้เทวดานพเคราะห์ทั้งเก้าโคจรรอบจักรราศี โดยมีเขาพระสุเมรุราชเป็นหลักของโลก เทวดาพระเคราะห์ทั้งเก้า ก็โคจรรอบเขาสุเมรุราช พระอิศวรปรารภว่า เขาพระสุเมรุราชประกอบด้วย เหลี่ยมใหญ่ประจำทิศทั้งแปด ยังไม่มีผู้ใดรักษา จึงได้มอบให้ พระอาทิตย์ (๑) รักษาทิศอีสาน พระจันทร์ (๒) รักษาทิศบูรพา พระอังคาร (๓) รักษาทิศอาคเณย์ พระพุทธ (๔) รักษาทิศทักษิณ พระเสาร์ (๗) รักษาทิศหรดี พระพฤหัสบดี (๕) รักษาทิศประจิม พระราหู (๘) รักษาทิศพายัพ พระศุกร์ (๖) รักษาทิศอุดร ส่วนพระเกตุ (๙) ให้ประจำอยู่ในทิศท่ามกลาง
            การเข้าครองทิศของเทวดาอัฐเคราะห์ให้ตั้งต้นที่ทิศทักษิณก่อน แล้วนับตั้งแต่ทิศทักษิณเป็นต้นไปเท่ากับกำลังของตน โดยทางทักษิณาวัตร คือเวียนขวา จากทักษิณไปหรดี เช่นพระอาทิตย์มีกำลัง ๖ ก็นับเริ่มต้นที่ทิศทักษิณเวียนขวาไปตามลำดับ ถึงลำดับ ๖ ตกทิศอิสาน ดังนั้นพระอาทิตย์ (๑) จึงประจำอยู่ที่ทิศอิสาน ดาวพระเคราะห์อื่น ๆ ก็ทำนองเดียวกันจนครบแปดดวง ทำให้เกิดภูมิพยากรณ์ และตำรามหาทักษา สำหรับใช้พิจารณาชะตาชีวิตในวิชาโหราศาสตร์เบื้องต้น คือวิชาหมอดูนั่นเอง
การแบ่งจักรราศีตามแบบโหราศาสตร์


            บนท้องฟ้าเป็นวิถีโคจรของบรรดาดาวพระเคราะห์ทั้งหลาย มีพระอาทิตย์ (๑) เป็นประธานในเวลากลางวัน และมีพระจันทร์ (๒) เป็นประธานเวลากลางคืน เมื่ออาทิตย์โคจรไปรอบจักรราศีจะโคจรผ่านกลุ่มดาวประจำราศีทั้ง ๑๒ ราศี อาทิตย์โคจรผ่านราศีต่าง ๆ ราศีละ ๑ เดือน ครบรอบจักรราศีเป็นเวลา ๑ ปี ระยะการโคจรของอาทิตย์ที่ผ่านไปตามจักรราศีเรียกว่า สุริยคติกาล จักรราศีหนึ่งมีมุม ๓๖๐ องศา แต่ละราศี มีมุม ๓๐ องศา
                ราศีทั้ง ๑๒ ราศีมีชื่อเรียกตามกลุ่มดาวที่ประจำอยู่ ดังนี้
                ราศี ๐ ชื่อราศีเมษ          หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป เนื้อ
                ราศี ๑ ชื่อราศีพฤกศภ    หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป โค
                ราศี ๒ ชื่อราศีเมถุน        หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป คนคู่
                ราศี ๓ ชื่อราศีกรกฎ        หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป ปู
                ราศี ๔ ชื่อราศีสิงห์          หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป ราชสีห์
                ราศี ๕ ชื่อราศีกันย์          หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป นาง
                ราศี ๖ ชื่อราศีตุลย์            หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป ตาชั่ง
                ราศี ๗ ชื่อราศีพิจิก           หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป แมลงป่อง
                ราศี ๘ ชื่อราศีธนู             หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป คนถือธนู
                ราศี ๙ ชื่อราศีมังกร          หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป งูใหญ่ หรือมังกร
                ราศี ๑๐ ชื่อราศี กุมภ์        หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป คนถือหม้อ
                ราศี ๑๑ ชื่อราศีมิน            หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป ปลา


            ใน ๑๒ ราศีจะมีดาวพระเคราะห์ครองอยู่ทั้งสิ้น ดาวพระเคราะห์ที่ครองอยู่ตามราศีทั้ง ๑๒ ราศีนี้เรียกว่า เกษตร มีดังนี้
                อังคาร  (๓)            เป็นเกษตรประจำราศีเมษ และราศีพิจิก
                ศุกร์  (๖)                เป็นเกษตรประจำราศีพฤกศก และราศีตุลย์
                พุธ  (๔)                 เป็นเกษตรประจำราศีเมถุน และราศีกันย
                จันทร์  (๒)            เป็นเกษตรประจำราศีกรกฎ
                อาทิตย์  (๑)           เป็นเกษตรประจำราศีสิงห์
                พฤหัสบดี  (๕)       เป็นเกษตรประจำราศีมีน
                เสาร์  (๗)               เป็นเกษตรประจำราศีกุมภ์
ตรียางค์ และนวางค์
            ในหนึ่งราศีมีมุมกว้าง ๓๐ องศา แบ่งออกเป็นสามส่วน แต่ละส่วนมีมุม กว้าง ๑๐ องศา เรียกว่าตรียางค์ ทุกตรียางค์มีดาวพระเคราะห์ครองทำนองเดียวกับเกษตรในแต่ละราศี ตรียางค์ที่หนึ่งเรียกว่า ปฐมตรียางค์ ตรียางค์ที่สองเรียกว่าทุติยตรียางค์  ตรียางค์ที่สามเรียกว่าตติยตรียางค์ ในจักรราศีมี ๓๖ ตรียางค์ด้วยกัน
            ในแต่ละตรียาค์ แบ่งออกเป็นสามนวางค์ แต่ละนวางค์มีมุม กว้าง ๓ องศา ๒๐ ลิบดา ดังนั้นในราศีหนึ่งจึงมีเก้านวางค์ แต่ละนวางค์มีดาวนพเคราะห์ครองเป็นเกษตร เช่นเดียวกับในตรียางค์ และในราศี
นักษัตร์ (ฤกษ์)
            นักษัตร์เป็นดาวอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ดาวพระเคราะห์ ประชุมกันอยู่ตามนวางค์ทั้ง ๑๐๘ นวางค์รอบจักรราศีมีทั้งหมด  ๒๗ กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะอยู่ใน ๔ นวางค์ มีชื่อเรียกตามลำดับ จากอัสวินีฤกษ์จนถึงเรวดีฤกษ์ กลุ่มดาวฤกษ์ที่ ๑ คืออัสวินีนักษัตรนั้น เริ่มตั้งแต่จุดแรกของราศีเมษ ไปจนถึงกลุ่มดาวฤกษ์ที่ ๒๗ อันเป็นจุดสุดท้ายของ เรวดีนักษัตร์ในราศีมิน
            กลุ่มดาวฤกษ์ที่ประชุมอยู่ในสี่นวางค์ นวางค์แรกเรียกว่า ปฐมบาท นวางค์ที่สองเรียกว่า ทุติยบาท นวางค์ที่สามเรียกว่า ตติยบาท และนวางค์ที่สี่เรียกว่า จัตตุถบาท
            กลุ่มดาวที่พระจันทร์โคจรผ่านเรียกว่า ฤกษ์ พระจันทร์โคจรผ่านตลอด ๒๗ กลุ่มดาวฤกษ์ เป็นเวลา ๑ เดือน เรียกว่า จันทรคติกาล
            ดาวพระเคราะห์ที่โคจรตามจักรราศีที่นำมาใช้ในวิชาโหราศาสตร์เดิมมีอยู่เพียงเจ็ดดวง คือ
                ดาวเสาร์ (เสารี)            ใช้แทนด้วย เลข ๗
                ดาวพฤหัสบดี (ชีโว)    ใช้แทนด้วย เลข ๕
                ดาวอังคาร (ภุมมะ)        ใช้แทนด้วยเลข ๓
                ดาวอาทิตย์ (สุริชะ)        ใช้แทนด้วยเลข ๑
                ดาวศุกร์ (ศุกระ)             ใช้แทนด้วยเลข ๖
                ดาวพุธ (พุธา)                  ใช้แทนด้วยเลข ๔
                ดาวจันทร์ (จันเทา)         ใช้แทนด้วยเลข ๒
            เป็นการเรียงลำดับ จากไกลมาใกล้ ส่วนราหูกับเกตุ ซึ่งใช้แทนด้วยเลข ๘ และเลข ๙ นั้น เป็นเพียงเงาของดาวพระเคราะห์อันเนื่องจากการโคจรของดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นวงรีมีระนาบเอียงทำมุม ประมาณ ๕ องศา จึงเกิดจุดตัดของแนวโคจรดังกล่าว สองจุด จุดทางทิศเหนือของโลกเรียกว่า ราหู จุดทางทิศใต้เรียกว่าเกตุ ดังนั้นราหูกับเกตุ จะโคจรมีระยะห่างกันเป็นมุม ๑๘๐ องศาตลอดเวลาในลักษณะที่เล็งกัน
ดาวพระเคราะห์ครองธาตุตามหลักทักษา


            ธาตุที่สำคัญมีอยู่สี่ประการด้วยกันคือ ธาตุไฟ ธาตุดิน ธาตุลม และธาตุน้ำ ธาตุไฟกับธาตุลมจัดไว้เป็นธาตุอกุศลธาตุ ธาตุดินกับธาตุน้ำเป็นกุศลธาตุ ธาตุทั้งสี่เข้าครองในภูมิพยากรณ์ทั้งแปดในลักษณะที่สลับกันระหว่างกุศลธาตุ และอกุศลธาตุ โดยเริ่มจากธาตุไฟคลองทิศอิสาน ธาตุดินครองทิศบูรพา ธาตุลมครองทิศอาคเณย์ ธาตุน้ำครองทิศทักษิณ เรียงสลับกันไปตามลักษณะทักษิณาวัตร
            บรรดาดาวพระเคราะห์ที่ครองอยู่ตามภูมิพยากรณ์ทั้งแปด ก็จะครองธาตุที่ประจำอยู่ตามภูมิพยากรณ์นั้น ๆ คือ อาทิตย์ครองธาตุไฟ จันทร์ครองธาตุดิน อังคารครองธาตุลม พุธคลองธาตุน้ำ เสาร์ครองธาตุไฟ พฤหัสบดีครองธาตุดิน ราหูครองธาตุลม และศุกร์ครองธาตุน้ำ ดาวเคราะห์ที่ครองธาตุเดียวกันเรียกว่า ดาวคู่ธาตุ
            สุริชะธาตุไฟกำหนดให้มีกำลังเท่ากับ ๑๒ อมฤตะ ธาตุน้ำ มีกำลัง ๑๖ ปาปะธาตุลมมีกำลัง ๒๒ โกลีธาตุดินมีกำลัง ๓๐ รวมกันแล้วมีกำลัง ๘๐ เรียกว่า อสีติธาตุ
            อาทิตย์กับเสาร์คู่ธาตุไฟ เข้าครองในราศีเมษธาตุไฟ
            พุธกับศุกร์คู่ธาตุน้ำ เข้าครองในราศี กรกฎ ธาตุน้ำ
            อังคารกับราหู คู่ธาตุลม เข้าครองในราศีตุลย์ ธาตุลม
            จันทร์ กับพฤหัสบดี คู่ธาตุดิน เข้าครองในราศีมังกร ธาตุดิน
ดาวพระเคราะห์ครองธาตุตามหลักโหราศาสตร์


            ในหลักวิชาโหราศาสตร์ ได้แบ่งจักรราศีออกเป็น ๑๒ ราศี และจัดดาวพระเคราะห์เข้าครองเป็นเกษตรทั้ง ๑๒ ราศี และมีการจัดให้ธาตุทั้งสี่เข้าครองทั้ง ๑๒ ราศี โดยวิธีเดียวกันกับที่จัดวางในภูมิพยากรณ์ คือให้กุศลธาตุอยู่สลับกับอกุศลธาตุ เมื่อนับตามอุตราวรรต (เวียนซ้าย) จะเป็นดังนี้
            ราศีเมษธาตุไฟ ราศีพฤศภ ธาตุดิน ราศีเมถุนธาตุลม ราศีกรกฎธาตุน้ำ ราศีสิงห์ธาตุไฟ ราศีกันย์ธาตุดิน ราศีตุลย์ธาตุลม ราศีพิจิกธาตุน้ำ ราศีธนูธาตุไฟ ราศีมังกรธาตุดิน ราศีกุมภ์ธาตุลม และราศีมีนธาตุน้ำ
            ราศีที่มีอิทธิพลในภาคกลางวันได้แก่ ราศีสิงห์ กันย์ ตุลย์ พิจิก  ธนู และราศีมังกร
            ราศีที่มีอิทธิพลในภาคกลางคืนได้แก่ ราศี กุมภ์ มีน เมษ พฤษภ เมถุน และราศีกรกฎ
คู่มิตร คู่ศัตรู ตามตำนานชาติเวร
            การแบ่งดาวพระเคราะห์เป็น คู่มิตร คู่ศัตรู ตามหลักวิชาหมอดู กำหนดตามตำนานชาติเวรของดาวพระเคราะห์ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์เฉลิมไตรภพ มีดังนี้
            ดาวที่เป็นคู่มิตรคือ อาทิตย์กับพฤหัสบดี จันทร์กับพุธ ศุกร์กับอังคาร และราหูกับเสาร์
            ดาวที่เป็นคู่ศัตรูคือ อาทิตย์กับอังคาร พุธกับราหู ศุกร์กับเสาร์ และจันทร์กับพฤหัสบดี
คู่มิตร คู่ศัตรู ตามหลักโหราศาสตร์


            ดวงมูลตรีโกณหรือมูลเกษตร เป็นตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ที่ให้คุณ เพราะเป็นดาวในตำแหน่งเกษตรนั่นเอง ยกเว้นจันทร์ไปครองตำแหน่งอุจจ์ในราศีพฤกษภ ตำแหน่งมูลเกษตรเป็นที่เกิดของดาวพระเคราะห์คู่มิตรคู่ศัตรู ตามหลักโหราศาสตร์ ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ปาริชาติชาดก ซึ่งแสดงไว้ว่า
            อาทิตย์ราศีสิงห์ จันทร์ราศีพฤกษภ อังคารราศีเมษ พุธราศีกันย์ พฤหัสบดีราศีธนู ศุกร์ราศีตุลย์ เสาร์ราศีกุมภ์ เรียกว่าได้ตำแหน่งมูลตรีโกณ หรือมูลเกษตร
            การกำหนดดาวพระเคราะห์ที่เป็นคู่มิตรคู่ศัตรูกันนั้น กำหนดจากตำแหน่งที่เป็นมูลตรีโกณของดาวพระเคราะห์นั้น ๆ พิจารณาจากเจ้าเรือนเกษตรของภพที่สอง สี่ ห้า แปด เก้า และภพที่สิบสอง พร้อมทั้งดาวพระเคราะห์ที่เป็นเจ้าเกษตร ราศีอุจจ์ของดาวในตำแหน่งมูลตรีโกณ ดาวพระเคราะห์เกษตรในตำแหน่งดังกล่าวจะเป็นคู่มิตรกับดาวนั้น บอกจากนั้นแล้วเป็นศัตรูทั้งสิ้น สรุปได้ดังนี้
            ดาวอาทิตย์ เป็นมิตรกับจันทร์ อังคารและพฤหัสบดี เป็นกลางกับพุธ เป็นศัตรูกับศุกร์ และเสาร์
            ดวงจันทร์ เป็นมิตรกับอาทิตย์ และพุธ เป็นกลางกับอังคาร และพฤหัสบดี ศุกร์ และเสาร์ไม่เป็นศัตรูกับดาวอื่น
            ดาวอังคาร เป็นมิตรกับอาทิตย์ จันทร์ และพฤหัสบดี เป็นกลางกับศุกร์และเสาร์ เป็นศัตรูกับพุธ
            ดาวพุธ เป็นมิตรกับอาทิตย์ และศุกร์ เป็นกลางกับอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ เป็นศัตรูกับจันทร์
            ดาวพฤหัสบดี เป็นมิตรกับอาทิตย์ จันทร์ และอังคาร เป็นกลางกับเสาร์ เป็นศัตรูกับพุธ และศุกร์
            ดาวศุกร์ เป็นมิตรกับพุธและเสาร์ เป็นกลางกับอังคาร และพฤหัสบดี เป็นศัตรูกับอาทิตย์ และจันทร์
            ดาวเสาร์ เป็นมิตรกับศุกร์ และพุธ เป็นกลางกับพฤหัสบดี เป็นศัตรูกับอาทิตย์ จันทร์ และอังคาร
การพิจารณาดาวเคราะห์จร
            การพยากรณ์ความเป็นไปของชีวิตจากดวงชะตา ตามหลักวิชาโหราศาสตร์ ก็พยากรณ์จากดาวพระเคราะห์ที่โคจรใน ๑๒ ราศี ส่งกระแสสัมพันธ์มาถึงดาวพระเคราะห์ในดวงชาตาตลอดจนลัคนาของผู้นั้น มีหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาหลายนัยด้วยกันคือ
            ๑.  ให้พิจารณาจากลัคนาเป็นประการแรก และสำคัญที่สุด ตรวจดูว่าราศีที่ลัคนาสถิตนั้นมีดาวพระเคราะห์ใดบ้างที่ให้คุณ และให้โทษ
            ๒.  ให้พิจารณาดาวเจ้าเรือนลัคน์ว่าโคจรไปอยู่ในตำแหน่งใด เข้มแข็ง หรืออ่อนแอ นอกจากนั้นให้ดูดวงเจ้าเรือนที่จันทร์ในดวงชาตาสถิต ทำนองเดียวกับเจ้าเรือนลัคน์
            ๓.  ในราศีใดที่มีดาวพระเคราะห์โคจรไปต้องกัน ให้พิจารณาดู ดาวที่เป็นเกษตรในราศีนั้นด้วย
            ๔.  ดาวพระเคราะห์เดิมในดวงชะตา เมื่อถูกดาวพระเคราะห์จรมาต้องส่งผลให้ในทางให้โทษ ให้พิจารณาตำแหน่งของดาวพระเคราะห์เดิมในดวงชาตาที่ถูกเบียนนั้น ตรวจดูสภาพที่กำลังเป็นดาวพระเคราะห์จรในขณะนั้น
            ๕.  นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ถ้าหากในขณะนั้นเกิดมีจุดดับ หรือจุดคราสมาถูกต้องในดวงชาตาก็นับว่าเป็นผลร้าย จุดดับคือตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ ยกเว้นราหู และเกตุ ซึ่งโคจรเข้าร่วมกับอาทิตย์ มีองศาใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ ประมาณ ๕ องศา ถ้าเป็นจุดดับของพระจันทร์มีชื่อเรียกว่า จุดอามาวสี จุดดับของจันทร์ถ้าไปต้องดาวพระเคราะห์ใดเข้า รวมทั้งลัคนาก็ถือว่าเป็นจุดเบียน และจุดที่อาทิตย์กับจันทร์มีองศาเท่ากัน ถือว่าดับสนิท ถ้าไปเท่ากับองศาของลัคนา หรือดาวพระเคราะห์ที่โคจรไปทับก็ถือว่าเป็นจุดเบียน หากดาวพระเคราะห์ที่ดับเป็นดาวเกษตรเจ้าเรือนลัคน์ หรือเจ้าเรือนจันทร์ก็จะทำให้ชาตาในจังหวะนั้นไม่สู้ดี ดาวพระเคราะห์ดวงใดที่โคจรเข้าไปสู่จุดดับ ถือว่าดาวพระเคราะห์ดวงนั้นหมดกำลังต้านทาน
            จุดคราส  เป็นจุดดับอีกประการหนึ่ง ซึ่งรุนแรงกว่าจุดดับธรรมดา และสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจุดดับของจันทร์ และจุดเพ็ญของจันทร์ที่เรียกว่า ปุรณมี ถ้ามีราหูร่วมหรือเล็งในระยะองศาใกล้เคียง ภายในระยะองศาที่บังคับไว้ทำให้เกิดสุริยุปราคา ขึ้นเรียกว่า จุดคราส ถ้าจุดนี้ไปต้องลัคนา หรือดาวพระเคราะห์ดวงใดในชาตา จะเป็นด้วยการร่วมหรือเล็งก็ตามโดยมีองศาใกล้เคียงกันภายใน ๒๐๐ ลิบดา ดาวเกษตร์เจ้าเรือนลัคน์ ดาวเกษตรเจ้าเรือนจันทร์ ดาวเกษตร์เจ้าราศีที่อาทิตย์ในชาตากำเนิดสถิตอยู่ถือว่า เป็นชาตาเข้าฆาฏระยะหนึ่ง จะให้ผลร้ายเมื่ออังคารโคจรมาทับ หรือมาเล็ง จุดคราสอีกจุดหนึ่ง คือจุดที่อาทิตย์กับจันทร์โคจรมาเล็งกันเป็นมุม ๑๘๐ องศา ทำให้เกิดจุดเพ็ญขึ้น แต่มีราหูเข้ามามีองศาร่วม จะร่วมในราศีที่อาทิตย์สถิต หรือจันทร์สถิตก็ได้ ทำให้เกิดจันทรุปราคาขึ้น มีผลเช่นเดียวกับ สุริยุปราคา
            จุดเพ็ญ  ถือว่าเป็นจุดดีจุดหนึ่ง จันทร์เพ็ญโคจรไปร่วมกับดาวดวงใด จะทำให้ดาวดวงนั้นมีกำลังขึ้น ทั้งดาวพระเคราะห์เดิมในดวงชาตา  และดาวพระเคราะห์ที่กำลังโคจรในวิถีจักร
            ๖.   ดาวพระเคราะห์ที่จัดว่าให้คุณในดวงชาตา เมื่อโคจรมาต้องตัวเองเข้าก็ถือว่าให้ผลดี ตรงกันข้ามดาวพระเคราะห์ที่ให้โทษในดวงชาตา เมื่อโคจรมาต้องตัวเองก็จะให้ผลร้าย
            ๗.  การพิจารณาผลจากดาวพระเคราะห์โคจรมาต้อง ให้ตรวจดูว่าดาวดวงนั้นตั้งอยู่ในภพใดจากดาวนั้น ก็จะให้คุณให้โทษตามสภาพของภพนั้น ๆ
ดาวพระเคราะห์ครองทิศตามหลักโหราศาสตร์


            ตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ที่ครองใน ๑๒ ราศีนี้ ก็คือตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ที่สถิตในราศีอุจจ์ของตนนั่นเอง คือ อาทิตย์เป็นอุจจ์ในราศีเมษ ทิศบูรพา อังคารเป็นอุจจ์ในราศีมังกรทิศทักษิณ เสาร์เป็นอุจจ์ในราศีตุลย์ทิศประจิม พฤหัสบดีเป็นอุจจ์ในราศีกรกฏทิศอุดร สำหรับทิศเฉียงคือ ทิศอาคเณย์มีศุกร์เป็นอุจจ์อยู่ดวงเดียว จึงเป็นดาวครองทิศอาคเณย์ ทิศหรดีมีราหูเป็นอุจจ์อยู่ดวงเดียว จึงเป็นดาวครองทิศหรดี ทิศพายัพมีพุธเป็นอุจจ์อยู่ดวงเดียว จึงเป็นดาวครองทิศพายัพ ทิศอิสานมีจันทร์เป็นอุจจ์อยู่ดวงเดียวจึงเป็นดาวครองทิศอิสาณ แต่คัมภีร์โหราศาสตร์หลายฉบับได้แบ่งดาวพระเคราะห์เข้าครองทิศผิดไปจากที่กล่าวแล้วในทิศพายัพ อุดร และ อิสาณ กล่าวคือให้จันทร์ครองทิศพายัพ พุธครองทิศอุดร และพฤหัสบดีครองทิศอิสาณ
ตำรามหาทักษา


            เมื่อพระอิศวรได้สร้างโลก สร้างดาวนพเคราะห์ และสร้างสรรพชีวิตมนุษย์สัตว์ขึ้นมาแล้ว ก็ได้สั่งให้เทวดานพเคราะห์มีหน้าที่ หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาเสวยอายุบุคคลตามระยะเวลาอันเท่ากับกำลังของพระเคราะห์นั้น ๆ ส่วนพระเกตุให้ประจำอยู่ตลอด
            ผู้ใดเกิดวันใด เทวดาดาวพระเคราะห์ที่ตรงกับวันเกิดจะเสวยอายุก่อนเท่ากำลังของตน เป็นกำลังละ ๑ ปี เช่นพระอาทิตย์มีกำลัง ๖ ก็จะเสวยอายุ ๖ ปี จากนั้น เทวดาดาวพระเคราะห์ถัดไป ตามภูมิอัฐจักรพยากรณ์ก็จะเข้าเสวยอายุต่อไปตามกำลังของตน ตามลำดับไปจนครบ ๘ องค์ เป็นเวลา ๑๐๘ ปี เรียกว่า กำลังพระเคราะห์ ๑๐๘ ในขณะที่เทวดาดาวพระเคราะห์องค์หนึ่งองค์ใดเสวยอายุอยู่ จะมีเทวดาดาวพระเคราะห์องค์อื่นเข้ามาแทรก การคำนวณให้รู้ว่า เทวดาองค์ใดเสวยอายุตัวเองเท่าใด และองค์อื่นแทรกเป็นเวลาเท่าใด มีวิธีคำนวณ ดังนี้
            ให้ตั้งกำลังพระเคราะห์ที่เสวยอายุลง เสวยอายุตัวเองเท่าใดเอากำลังเป็นตัวคูณแล้วเอา ๑๐๘ เป็นตัวหาร ผลลัพธ์ที่ได้เป็นปี ถ้ามีเศษของปีเอา ๑๒ คูณ แล้วเอา ๑๐๘ หาร ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเดือนถ้ามีเศษเดือนเอา ๓๐ คูณ แล้วเอา ๑๐๘ หาร ผลลัพธ์ที่ได้เป็นวัน ถ้ามีเศษวันให้เอา ๖๐ มหานาฑีคูณ แล้วเอา ๑๐๘ หาร ผลลัพธ์เป็นมหานาฑี ถ้าจะทำให้เป็นชั่วโมงให้เอา ๒๔ คูณ แล้วเอา ๖๐ หาร ผลลัพธ์เป็นชั่วโมง ก็จะรู้ว่าเสวยอายุตัวเองเป็นเวลาเท่าใด
            ถ้าต้องการรู้ระยะเวลาพระเคราะห์องค์ที่แทรก ให้เอากำลังพระเคราะห์องค์ที่แทรก คูณกำลังพระเคราะห์ที่เสวยอายุแล้วเอา ๑๐๘ หาร กระทำไปตามลำดับดังที่กล่าวมาแล้ว ก็จะทราบว่าพระเคราะห์ที่แทรกนั้นเป็นระยะเวลาเท่าใด
            ผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ พระอาทิตย์เสวยอายุครบ ๖ ปี พระจันทร์เสวยอายุต่อตั้งแต่อายุ ๗ ปี ถึง อายุ ๒๑ ปี แล้วพระอังคารเสวยอายุตั้งแต่ อายุ ๒๒ ปี ถึงอายุ ๒๙ ปี พระพุธเสวยอายุตั้งแต่อายุ ๓๐ ปี ถึงอายุ ๔๖ ปี แล้วพระเสาร์เสวยอายุตั้งแต่อายุ ๔๗ - ๕๖ ปี พระพฤหัสบดีเสวยอายุตั้งแต่ อายุ ๕๗ - ๗๕ ปี พระราหูเสวยอายุตั้งแต่อายุ ๗๖ - ๘๗ ปี จากนั้นพระศุกร์เสวยอายุตั้งแต่อายุ ๘๘ - ๑๐๘ ปี
            ผู้ที่เกิดวันจันทร์ พระจันทร์เสวยอายุถึง อายุ ๑๕ ปี พระอังคารเสวยอายุตั้งแต่อายุ ๑๖ - ๒๓ ปี พระพุธเสวยอายุตั้งแต่อายุ ๒๔ - ๔๐ ปี พระเสาร์เสวยอายุตั้งแต่อายุ ๔๑ - ๕๐ ปี พระพฤหัสบดีเสวยอายุตั้งแต่อายุ ๕๑ - ๖๙ ปี พระราหูเสวยอายุตั้งแต่อายุ ๗๐ - ๘๑ ปี พระศุกร์เสวยอายุตั้งแต่อายุ ๘๒ - ๑๐๒ ปี และพระอาทิตย์เสวยอายุตั้งแต่อายุ ๑๐๓ - ๑๐๘ ปี
            สำหรับผู้ที่เกิดวันอังคาร วันพุธ วันเสาร์ วันพฤหัสบดี และวันศุกร์ ก็ทำในทำนองเดียวกันไปตามลำดับตั้งแต่เกิดจนอายุ ๑๐๘ ปี
            ในระหว่างที่เทวดาพระเคราะห์เข้ามาเสวยอายุอยู่แต่ละองค์ ก็จะมีเทวดาพระเคราะห์องค์อื่นจรเข้ามาแทรก ตามตารางที่แสดงไว้ตามลำดับการเสวยอายุของพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระเสาร์ พระพฤหัสบดี พระราหู และพระศุกร์

 
  บน หน้าต่อไป
 

มหาหมอดู ดอทคอม


  ::::