เคราะห์
เคราะห์ ความหมายคือ สิ่งที่เรายึดติดในจิตโดยการเชื่อมาตามประเพณี
เคราะห์ เป็นคำกลาง ส่วนที่ดีเรียก ศุภเคราะห์ หรื
สมเคราะห์ ส่วนไม่ดีเรียกว่า บาปเคราะห์
เข็ญ
เข็ญ คือความทุกข์ยาก ความลำบาก ความไม่สบายกาย สบายใจ
แต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่มันเป็นความทุกข์ทรมานจากการไม่สมหวัง ปราชญ์โบราณบอกว่า
"เคราะห์เมื่อเว็น เข็ญเมื่อค่ำ"
เคราะห์กับเข็ญ ความแตกต่างระหว่างเคราะห์กับเข็ญ ก็คือ
เคราะห์มีทั้งหนักและเบา หนักอาจถึงตาย แต่เข็ญนั้นมัลักษณะน่ารำคาญ
เหมือนเศษอาหารติดฟัน หรือก้างตำคอ เอาออกไม่ได้ก็พะวงอยู่อย่างนั้น
ลาง
ลาง คือสิ่งบอกเหตุที่จะให้เจ้าตัวรู้ว่า
เคราะห์หรือเข็ญจะเกิดแก่ตน ลางอาจจะบอกให้เห็นทั้งในเวลาตื่นหรือเวลาหลับ
ตื่นคือการมองเห็นด้วยตา หลับคือการนอนฝัน ลางมีทั้งดีหรือไม่ดี
เมื่อพบเห็นลางจะต้องมีสติไม่ประมาท ลางนี้ภาษาพระท่านเรียกว่า "นิมิตร"
- ลางเกิดภายในตัว เช่น เงาหัวไม่มี ตาเขม่น
เนื้อตัวเขม่น ฝันเห็นเครื่องบินลงบ้าน เป็นต้น
- ลางเกิดจากสิ่งนอกกาย เช่น สุนัขจิ้งจอกเห่า อีเก้ง
(ฟาน) เห่า งูเข้าบ้าน รุ้งลงกินน้ำในโอ่ง ข้าวที่หุงหรือนึ่งกลายเป็นสีแดง
สุนัขคนอื่นมาขี้บนบ้าน นกเค้าบินเข้าบ้าน ไก่ป่าเข้าหมู่บ้าน อีกาโฉบหัว
หรือการผิดสังเกตอื่นๆ เป็นต้น
ลางนี้ถ้าเห็นให้รีบแก้อย่าให้ข้ามคืน
จะไม่มีอะไรแต่ถ้าปล่อยให้ข้ามคืนจะเป็นเคราะห์เป็นเข็ญ
และจะต้องแก้ด้วยการเสียเคราะห์ เสียเข็ญ จึงจะพ้นเคราะห์นั้น
ยาม หรือ เวลา ที่ปราชญ์โบราณท่านกล่าวไว้ ว่าจะเป็นลางร้าย
หรือลางดี มีดังนี้
เห็นยามเช้าโชคเจ้าเหลือหลาย |
เห็นยามงายเคราะห์หลายเหลือล้น |
เห็นยามแถตึกแหดูม่วน |
โชคก็ด่วนมาฮอดมาเถิง |
เห็นยามเที่ยงใจเบี่ยงพาลา |
มันจักเป็นโรคามรณาอันฮ้าย |
เห็นยามตุดซ้ายความฮ้ายบ่มี |
|
เห็นยามแลงใจแข็งท่อฟ้า |
ได้แก่ลุงและป้าอาวอาเฮาแน่ |
เห็นยามแถใกล้ค่ำโชคพ่ำพอใจ |
|
เห็นยามค่ำกรรมใส่คนเห็น |
เป็นกรรมเวรเก่าหลังมาฮอด |
คำอธิบายยาม ตามที่กล่าวถึงข้างบนนี้ หมายถึงเวลาดังต่อไปนี้
ยามตุดตั้ง หรือเวลาเช้า
|
06.00 - 07.30 น.
|
ยามกองงาย หรือยามงาย
|
07.30 - 09.00 น.
|
ยามแถใกล้เที่ยง |
09.00 - 10.30 น.
|
ยามเที่ยง |
10.30 - 12.00 น.
|
ยามตุดซ้าย หรือเวลาบ่าย |
12.00 - 13.30 น.
|
ยามกองแลง |
13.30 - 15.00 น.
|
ยามแถใกล้ค่ำ |
15.00 - 16.30 น.
|
ยามค่ำ |
16.30 - 18.00 น.
|
ลางที่เกิด หรือ สังเกตเห็น จะได้แก่ใคร หรือเกิดขึ้นกับใคร
เกิดแก่ตนเอง หรือญาติคนอื่นๆ ให้ดูตามวัน ดังนี้
ถ้าเห็นวันอาทิตย์ จะเกิดแก่เพื่อนบ้านหรือคนอื่น |
ถ้าเห็นวันจันทร์ จะเกิดแก่มิตรสหาย |
ถ้าเห็นวันอังคาร จะเกิดแก่พ่อแม่และตายาย |
ถ้าเห็นวันพุธ จะเกิดแก่ลูกเมียในครอบครัว |
ถ้าเห็นวันพฤหัสบดี จะเกิดแก่ญาติพี่น้อง |
ถ้าเห็นวันศุกร์ จะเกิดแก่วัวควายและสัตว์เลี้ยง |
ถ้าเห็นวันเสาร์ จะเกิดแก่ตัวผู้เห็นเอง |
|
พิธีเสียเคราะห์เสียลาง
การเสียเคราะห์นั้น ท่านให้จัดเครื่องสักการะเพื่อบูชาพระเคราะห์ให้หายเคราะห์
ดังนี้
- เทียนฮอบหัว (เทียนวัดรอบศรีษะ) 1 เล่ม
- เทียนยาว 1 ศอก 1 เล่ม
- เทียนค่าคีง (เทียนความยาวเท่ากับจากเอวถึงคอ) 1 เล่ม
- เทียนยาว 1 คืบ 5 คู่
- เทียนยาวค่าใจมือ (ยาวเท่ากับจากปลายนิ้วกลางถึงกลางฝ่ามือ) 1 เล่ม
- จีบหมาก (เมี่ยง) เท่าอายุ
- ข้าวดำ ข้าวแดง ข้าวเหลือง ข้าวตอกแตก ดอกไม้ น้ำส้มป่อย เศวตฉัตร ทุ่งช่อ ทุ่งชัย
โทง 4 แจ 9 ห้อง ยาวแจละ 1 ศอก 1 โทง ฮูปแฮ้ง 1 ฮูป ฮูปคน 1 ฮูป หลักในโทงยาว 1 ศอก
9 หลัก ปัก 9 บัก ห้อยฝ้ายแดง 2 หลัก ฝ้ายดำ 2 หลัก ฝ้ายขาว 2 หลัก ฝ้ายเหลือง 2
หลัก ดอกฝ้าย 1 หลัก ด้ายสายสิญจน์อ้อมโทงยาว 1 วา 1 เส้น เอาผม 1 เส้น ตัดเล็บตีน
เล็บมือใส่ด้วยนิ้วละ 1 ชิ้น เสื้อผ้าคนป่วยที่เคยใช้
(เอาขนผ้าหรือเส้นด้ายบางเส้นก็ได้) ใสในโทง
พิธีกรรมนี้จะทำกันที่บ้านคนป่วย (ผู้ที่มีเคราะห์) ทำให้ได้ครั้งละหลายคน
แต่ต้องเอาเครื่องบูชาดังกล่าวจากทุกคน เวลาทำควรทำในเวลาเช้าอย่าให้เลยเที่ยงวัน
ทำได้ทุกวัน เว้นวันจม วันเดือนดับและวันเก้ากอง แต่ที่นิยมคือ วันพฤหัสบดี
วันศุกร์ และวันเสาร์
ความเสียเคราะห์ จะเป็นการกล่าวบูชาเทวดา ภูติผีเจ้าชาตา
ให้ลงมาเอาเครื่องบูชาที่ได้เตรียมไว้นี้ ให้เคราะห์หายไปจากผู้ป่วยไข้โดยไว
มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงตลอดไป
การเสียเข็ญ
การเสียเข็ญให้เตรียมสิ่งของ เพื่อการปัดเป่า ดังนี้
- เทียนเวียนฮอบหัว 1 เล่ม
- เทียนขัน 5 ยาวจากกลางฝ่ามือถึงปลายนิ้วกลาง 5 คู่
- โทงหน้างัว (สามเหลี่ยม) ยาวด้านละเท่าคืบคนเป็นเข็ญ 4 โทง
- จอกใบขนุนหรือใบฝรั่ง 8 อัน จีบหมากพลูพัน (เมี่ยงหมาก) เท่าอายุ ข้าวแดง ข้าวดำ
ข้าวเหล์อง แกงส้ม แกงหวานใส่ในโทง
- หลักยาว 1 ศอก 8 หลัก ปักไว้โทงละ 2 หลัก ทุงติดหลักละ 1 ทุง (ธง)
ด้ายสายสินจน์อ้อม
แล้วว่า คำเสียเข็ญ ดังนี้
สรรพเข็ญ สรรพเคราะห์ แล่นมาพานปู่แก้ ปู่ปัด สรรพลางแล่นมาข้อง
ปู่แก้ปู่ปัด เข็ญแล่นต้องเถิงตนเข็ญคนต้องเถิงเนื้อ ปู่แก้ปู่ปัด ปัดอันฮ้ายให้หนี
ปัดอันดีให้อยู่ โอมจินจักมึงมาฮ้องให้เป็นภัย หมาจังไฮมึงมาหอนให้เป็นโทษ
มึงมาฮ้องประโยชน์สิ่งอันใด โอมสวหายะ ตั้งแต่นี้เมือหน้าอย่าได้มีศัตรูมาตัด
เทวทัตอย่าได้มาพาน ฝูงมารอย่าได้มาใกล้ สรรพเข็ญฮ้ายขอให้พ่ายหนี สัพพะสิทธิ
ภะวันตุ เต ฯห
เรื่องของตัวอุบาทว์ เวรกรรม
และราหู
ตัวอุบาทว์
นั้นจะหมายถึงสิ่งที่แสดงออกเป็นลาง เช่น ฮุ้งลงกินน้ำในโอ่งภายในบ้าน
ไก่ป่าบินเข้าบ้าน งูเลื้อยเข้าบ้าน นกตกลงมาตายต่อหน้า งูตกลงมาห้อยบ่า
หมาจิ้งจอกเห่า นึ่งข้าวขาวกลายเป็นสีแดง หม้อนึ่งร้อง ควายนอนขี้สีก (ปลัก)
ใต้ถุนบ้าน หมูจะขึ้นบ้าน กาโฉบหัว ฯลฯ เหล่านี้ก็คืออุบาทว์
คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นลางไม่ดี
โบราณมักจะพูดกับบุคคลที่พบกับสิ่งเหล่านี้ว่านั้นแหละอุบาทว์กินหัวมัน ดังนั้น
คำว่า "อุบาทว์" ก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นลางไม่ดีนั่นเอง
การสวดอุบาทว์ นั้นนิยมกันตามพิธีพุทธ คือนิมนต์พระมาสวดปริตรมงคลธรรมดา
แต่เมื่อจบแล้วให้พระท่านอ่านหนงสืออุบาทว์ ถ้าไม่มีให้สวดไชยน้อย ไชยใหญ่
หรือสวดยันทุนนิมิตัง ฯลฯ 3 รอบ หรือ 7 รอบ แล้วแต่อุบาทว์นั้นน้อยใหญ่ขนาดไหน
ให้ทำน้ำมนต์ และประพรมน้ำมนต์ด้วยชยันโต ฯลฯ เพื่อเป็นสิริมงคลซ้ำอีกดีนัก
เวลาทำให้แต่งคายด้วยขัน 5 ขัน 8 (ดอกไม้ขาว 5 คู่ เทียน 5 เล่ม ดอกไม้ขาว 8 คู่
เทียน 8 คู่) ใส่ภาชนะ ไม่ให้ใช้โต๊ะหมู่อย่างที่ทำกันในสมัยปัจจุบัน
การคัดเวรตัดกรรม
กรรมเป็นสิ่งที่ติดตัวคนมาจากอดีตชาติ มาชาตินี้ลุ่มๆ ดอนๆ
หรือเจ็บไข้ได้ป่วยเรื้อรังทั้งๆ ที่ก็รักษาสุขภาพอนามัยดีแล้ว โบราณท่านว่า
ความทุกข์ประเภทนี้เกิดเพราะกรรมเวรตัดได้ยาก แม้กระนั้นโบราณท่านก็ว่าตัดได้
โดยแนะนำพิธีตัดกรรมตัดเวรให้ปฏิบัติดังนี้
จัดเครื่องขัน 5 โทงหน้างัว (สามเหลี่ยม) 4 โทง
ข้าวดำ ข้าวแดง 4 ก้อน อย่างละ 2 ก้อน ใส่ในโทง (โทงเล็กๆ กะใส่ลงในหม้อได้)
หม้อดินใหม่ๆ 1 ใบ มีด 4 เล่ม ด้ายสายสิญจน์ 4 เส้น นิมนต์พระมา 4 รูป
ให้เขียนในกระดาษว่า
"เจ้ากรรมนายเวรของนายหรือนาง ........................
(ผู้ที่จะตัดกรรมตัดเวรนั้น) ใส่ลงในหม้อแล้วเอาสายสิญจน์ผูกที่หม้อ
แล้วโยงด้ายทั้ง 4 เส้นมาไว้ตรงหน้าพระทั้ง 4 รูป อาราธนาพระสงฆ์สวดมนต์ประกาศว่า
ต่อไปนี้จะตัดกรรมตัดเวรให้ .........................
ขอให้เจ้ากรรมนายเวรให้อโหสิกรรมแก่ ........................... ต่อไปนี้ให้เลิกลา
อย่ามีเวรมีกรรมแก่กันและกันเลย แล้วจึงสวดคาถาตัดกรรมว่า
กัมมัสสะโกมหิ กัมมะทายาโท กัมมะโยนิ กัมมะพันธุ กัมมะปะฏิสสะระโณ ยัง กัมมัง
กะริสสามิ กัลยาณัง วาปาปะกังวา ตัด" ตอนนี้ให้ตัดด้ายไป 1 ครั้ง
(ยาวเท่ากำมือตอนกำตัดนั้น) ส่วนที่อยู่ในมือคือ กรรม ตัดแล้วก็ใส่ลงในหม้อไป
แล้วสวดตัดเวรว่า "นะ หิ เวเรนะ เวรานิ สัมมันตีธะ กุทาจะนัง อะเวเรนะ จะ สัมมันติ
เอสะ ธัมโม สะนันตะโน ตัด" แล้วเอามีดตัดด้ายอีกเป็นการตัดเวร
เสร็จแล้วเอาด้ายสายสิญจน์และเอาโทงลงในหม้อแล้วเอาไปลอยน้ำ
เป็นการปล่อยกรรมปล่อยเวร ท่านว่าดีนัก
พระราหู
ราหู เป็นเทพฝ่ายมารหรือที่เรียกว่า
"เทวบุตรมาร" มีผิวดำ มีฤทธิ์มาก สามารถบดบังพระจันทร์และพระอาทิตย์ได้
ตามตำนานเล่าว่า เมื่อคนอายุครบรอบ 12 ปี จะมีราหูมาเสวยอายุหรือแทรกครั้งหนึ่ง
คนที่ราหูเสวยอายุนั้นจะมีความทุกข์ร้อนกลุ้มอกกลุ้มใจ ไข้ ป่วย
เกิดอุบัติเหตุเจ็บหรือตายก็มี ดังนั้น โบราณท่านจึงมีธรรมเนียมส่งราหู
เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข นิยมทำกันในวันเสาร์
พิธีกรรมในการส่งราหู
ให้จัดหาเครื่องเหล่านี้ คือ ขัน 5 (ดอกไม้ขาว 5 คู่ เทียน 5 เล่ม) เทียนฮอบหัว 1
เล่ม ค่าคีง 1 เล่ม ค่าศอก 1 เล่ม ค่าคืบ 1 เล่ม ค่าใจมือ 1 เล่ม
เอาฝ้ายสีดำเป็นไส้เทียน โทงหน้างัว (สามเหลี่ยม) ยาวข้างละ 1 ศอก (ของคนป่วย) 1
อัน ทำแกงส้ม 12 ห่อ แกงหวาน 12 ห่อ ใส่ลงในโทง ข้าวสำหรับใส่บาตร 1 อัน ขนมส่งราหู
(ข้าวปาดสีดำ) 12 ห่อ ใส่รวมไว้ในชั้นข้าวตักบาตร
จากนั้นให้ไปนิมนต์พระมา 1 รูป และบอกรายละเอียดแก่ท่านไว้ล่วงหน้า
เมื่อเช้าวันเสาร์ให้พระมาตามนิมนต์ ครั้นมาถึงพระจะถามผู้ที่ราหูแทรก
ซึ่งกำลังรอใส่บาตรอยู่นั้น ก่อนใส่บาตรว่า "โยม เห็นราหูไหม?" โยมก็จะต้องตอบว่า
"ถามทำไมขอรับ?" พระจะตอบว่า "อาตมามารับราหู" โยมจะตอบว่า "ราหูอยู่ที่นี่"
พระกล่าวว่า "ส่งตัวมาให้อาตมาจะนำกลับวัด" โยมตอบรับว่า "ครับ" แล้วจึงใส่บาตร
ให้วางโทงนั้นเอาไว้ข้างๆ
พอใส่บาตรเสร็จก็ให้คนถือโทงหรือถือเองก็ได้ตามพระไป เอาไปทิ้งในที่อันควร
แต่เวลากลับให้กลับทางอื่น ก่อนหันกลับให้ว่าคาถา "สะกะฆะรัง คะมิสสามิ อุมมังคัง
คัจฉะตุ ราหู" แล้วหันหลังเดินกลับบ้าน
|